บทคัดย่อการประเมินโครงการพัฒนาการนิเทศนายประเทือง

การประเมินโครงการพัฒนาการนิเทศภายในโรงเรียนน่านนคร ปีการศึกษา 2549 มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินสภาวะแวดล้อมของโครงการ ( Context ) ประเมินปัจจัยในการดำเนินโครงการ (Input)ประเมินกระบวนการดำเนินงาน( Process ) และประเมินผลผลิตของโครงการ ( Product ) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนน่านนคร ที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (สาระภาษาอังกฤษ) คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และศิลปะโดยใช้การนิเทศภายในโรงเรียนและเพื่อประเมินความพึงพอใจของหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ ครูและบุคลากร กรรมการสภานักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการชมรมผู้ปกครองนักเรียน ที่มีต่อการจัดกิจกรรมโครงการและผลการพัฒนาการนิเทศภายในโรงเรียน โดยใช้รูปแบบจำลองซิป(CIPP Model) เป็นแนวทางในการประเมินทั้ง 4 ด้านและประเมินความพึงพอใจของประชากร ที่มีต่อการจัดกิจกรรมโครงการและผลการพัฒนาการนิเทศภายในโรงเรียนน่านนคร ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วยหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้จำนวน 8 คน ครูและบุคลากรจำนวน 20 คน รวมทั้งสิ้น 28 คน กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย กรรมการสภานักเรียน จำนวน 34 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 15 คน และคณะกรรมการชมรมผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 35 คน รวมทั้งสิ้น 84 คน ทำการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการจัดกิจกรรมโครงการและผลการพัฒนาการนิเทศภายในโรงเรียนน่านนคร

เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ แบ่งออกเป็น 2 ฉบับได้แก่ ฉบับที่ 1 แสดงความคิดเห็นของประชากรกลุ่มที่ 1 สอบถามความคิดเห็นทั้ง 4 ด้านและความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมโครงการนิเทศภายในโรงเรียน ฉบับที่ 2 แบบสอบถามความพึงพอใจของประชากรกลุ่มที่ 2 สอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการจัดกิจกรรมและผลการพัฒนาการนิเทศภายในโรงเรียนน่านนคร การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินสรุปได้ ดังนี้


1. ประชากรมีความคิดเห็นและความพึงพอใจในการจัดกิจกรรมโครงการพัฒนาการนิเทศภายในโรงเรียน ประกอบด้วยหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ ครูและบุคลากร ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง และประชากรมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมโครงการ และผลการพัฒนาการนิเทศภายในโรงเรียน ประกอบด้วยคณะกรรมสภานักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะกรรมการชมรมผู้ปกครองนักเรียน โดยภาพรวมเป็นเพศชายและเพศหญิงมีจำนวนเท่ากัน

2. ความคิดเห็นโดยภาพรวมของประชากร ที่มีต่อการจัดกิจกรรมโครงการพัฒนาการนิเทศภายในโรงเรียนจำนวน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัย ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านผลผลิตมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนด้านปัจจัย และด้านกระบวนการมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับน้อยที่สุด

2.1 ด้านสภาวะแวดล้อม พบว่าความคิดเห็นที่มีต่อการจัดกิจกรรมการนิเทศภายในโรงเรียนโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด กิจกรรมโครงการมีความเหมาะสมและโครงการฯ เป็นประโยชน์ต่อครูและบุคลลากรมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ส่วนกิจกรรมพัฒนาการนิเทศภายในโรงเรียน ช่วยพัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากรและรายการวัตถุประสงค์ของโครงการ สอดคล้องกับกิจกรรมมีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด

2.2 ด้านปัจจัย พบว่าความคิดเห็นที่มีต่อการการจัดกิจกรรมการนิเทศภายในโรงเรียนโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ครูและบุคลากรมีส่วนร่วมในการดำเนินการของโครงการมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ส่วนรายการสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินการมีความเพียงพอเหมาะสมมีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด

2.3 ด้านกระบวนการ พบว่าความคิดเห็นที่มีต่อการการจัดกิจกรรมการนิเทศภายในโรงเรียนโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด กิจกรรมพัฒนาการนิเทศด้านการศึกษาดูงานมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ส่วนรายการกิจกรรมพัฒนาการนิเทศด้านการทำวิจัยในชั้นเรียน มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด

2.4 ด้านผลผลิต พบว่าความคิดเห็นที่มีต่อการการจัดกิจกรรมการนิเทศภายในโรงเรียนโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ครูได้รับการพัฒนาทำให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ส่วนรายการได้รับการนิเทศตามโครงการฯ อย่างเหมาะสม มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด

3. การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ปีการศึกษา 2549 สูงกว่าปีการศึกษา 2548 ถือว่ามีการพัฒนาสูงขึ้น

4. ความพึงพอใจของประชากรสรุปผลการประเมินได้ดังนี้

4.1 ความพึงพอใจของประชากรประเภทหัวหน้ากลุ่มการเรียนรู้ ครูและบุคลากรที่มีต่อการจัดกิจกรรมโครงการพัฒนาการนิเทศภายในโรงเรียนโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โครงการพัฒนาการนิเทศภายในโรงเรียนส่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนดีขึ้น มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ส่วนรายการวัสดุอุปกรณ์ เอกสารและงบประมาณเอื้อต่อโครงการพัฒนาการนิเทศอย่างเพียงพอมีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด

4.2 ความพึงพอใจของประชากรประเภทกรรมการสภานักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะกรรมการชมรมผู้ปกครองนักเรียน ที่มีต่อการจัดกิจกรรมโครงการและผลการพัฒนา การนิเทศภายในโรงเรียนโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โครงการพัฒนาการนิเทศภายในโรงเรียนมีความจำเป็นต่อการพัฒนาครูและบุคลากรมากน้อยเพียงใด มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดส่วนรายการ โรงเรียนมีการสรุปประเมินผลการจัดกิจกรรมโครงการพัฒนาการนิเทศภายในโรงเรียนให้นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียน ทราบมากน้อยเพียงใด มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด

ใส่ความเห็น